วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

แบบทดสอบหลังเรียน

http://quickr.me/yCPD1jn

การปกครองสมัยอยุธยา

การเมืองการปกครองสมัยอยุธยาตอนต้น
1. การปกครองส่วนกลาง
พระมหากษัตริย์ ปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง คือจตุสดมภ์
จตุสดมภ์ แบ่งเป็น
กรมเวียง - มี ขุนเวียง เป็นผู้ดูแล มีหน้าที่ รักษาความสงบสุขของราษฏร
กรมวัง - มี ขุนวัง เป็นผู้ดูแล เป็นหัวหน้าฝ่าย ราชสำนักการพิจารณาพิพากษาคดี
กรมคลัง - มี ขุนคลัง เป็นผู้ดูแล มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินที่ได้จากการเก็บส่วยอากร
กรมนา - มี ขุนนา เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลการทำไร่ นา และสะสมเสบียงอาหารของ พระนคร
2. การปกครองหัวเมือง
อยุธยาเป็นเมืองหลวง เป็นจุดของศูนย์รวมอำนาจการปกครอง ล้อมรอบด้วยเมืองลูกหลวง ประกอบด้วย ทิศเหนือ เมืองลพบุรี ทิศตะวันออก เมือง นครนายก ทิศใต้ เมือง นครเขื่อนขันธ์ และทิศตะวันตก เมือง สุพรรณบุรี
ถัดออกมาคือ หัวเมืองชั้นใน ได้แก่ สิงห์บุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี และเพชรบุรี และเมืองประเทศราช เช่น เมือง นครศรีธรรมราชและเมืองพิษณุโลก

การปกครองสมัยอยุธยาตอนกลาง
1991 - 2231
การปกครองเริ่มตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นต้นมา หลังจากที่ได้ผนวกเอาอาณาจักรสุโขทัยมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา โดยมีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ
1. จัดการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
2. แยกกิจการฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารออกจากกัน
การปกครองส่วนกลาง
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดฯให้มีตำแหน่งสมุหกลาโหมรับผิดชอบด้านการทหาร นอกจากนี้ยังได้ทรงตั้งหน่วยงานเพิ่มขึ้นมา อีก 2 กรม คือ
กรมมหาดไทย มีพระยาจักรีศรีองครักษ์เป็นสมุหนายก มีฐานะเป็นอัครมหาเสนาบดี มีหน้าที่ควบคุมกิจการพลเรือนทั่วประเทศ
กรมกลาโหม มีพระยามหาเสนาเป็นสมุหพระกลาโหม มีฐานะเป็นอัครมหาเสนาบดี มีหน้าที่ควบคุมกิจการทหารทั่วประเทศ
นอกจากนี้ใน 4 กรมจตุสดมภ์ที่มีอยู่แล้ว ทรงให้มีการปรับปรุงเสียใหม่ โดยตั้งเสนาบดีขึ้นมาควบคุมและรับผิดชอบในแต่ละกรมคือ
กรมเมือง (เวียง) มีพระนครบาลเป็นเสนาบดี
กรมวัง มีพระธรรมาธิกรณ์เป็นเสนาบดี
กรมคลัง มีพระโกษาธิบดีเป็นเสนาบดี
กรมนา มีพระเกษตราธิการเป็นเสนาบดี
การปกครองส่วนภูมิภาค
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกเลิกการปกครองแบบเดิมทั้งหมด แล้วจัดระบบใหม่ดังนี้
1 .) หัวเมืองชั้นใน ยกเลิกเมืองหน้าด่านแล้วเปลี่ยนเป็นเมืองชั้นใน มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ผู้ปกครองเมืองเหล่านี้เรียกว่า ผู้รั้ง พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้แต่งตั้งขุนนางในกรุงศรีอยุธยา ทำหน้าที่ผู้รั้งเมือง ต้องรับคำสั่งจากในราชธานีไปปฏิบัติเท่านั้นไม่มีอำนาจในการปกครองโดยตรง
2) หัวเมืองชั้นนอก (เมืองพระยามหานคร) เป็นหัวเมืองที่อยู่ภายนอกราชธานีออกไป จัดเป็นหัวเมืองชั้นตรี โท เอก ตามขนาดและความสำคัญของหัวเมืองนั้น เมืองเหล่านี้มีฐานะเดียวกันกับหัวเมืองชั้นใน คือขึ้นอยู่ในการปกครองจากราชธานีเท่านั้น
3) หัวเมืองประเทศราช ยังให้มีการปกครองเหมือนเดิม มีแบบแผนขนบธรรมเนียมเป็นของตนเอง มีเจ้าเมืองเป็นคนในท้องถิ่นนั้น ส่วนกลางจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในด้านการปกครอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย

การปกครองสมัยอยุธยาตอนปลาย
สมัยอยุธยาตอนปลาย เริ่มในสมัยพระเพทราชา สมัยนี้ยึดการปกครองแบบที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปรับปรุงแต่ได้แบ่งแยกอำนาจสมุหกลาโหมและสมุหนายกเสียใหม่ คือ
สมุหกลาโหม - ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมดทั้งที่เป็นฝ่ายทหารและพลเรือน
สมุหนายก - ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมดที่เป็นฝ่ายทหารและพลเรือนรูปแบบการปกครอง
ของอยุธยาใช้เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการปฏิรูปการปกครองเสียใหม่
ได้แยกกิจการฝ่ายทหารและพลเรือนออกจากกัน แต่การกำหนดอำนาจบังคับบัญชาดูแลกิจการทั้งสองฝ่ายตามเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นการถ่วงดุลอำนาจของขุนนางด้วยกัน เพื่อจะได้ไม่เป็นภัยต่อราชบัลลังก์และแบ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายต่างๆ ดังนี้
- หัวเมืองฝ่ายเหนือ ขึ้นตรงต่อสมุหนายก
- หัวเมืองฝ่ายใต้ ขึ้นตรงต่อสมุหพระกลาโหม
- หัวเมืองชายทะเลตะวันออก ขึ้นตรงต่อเสนาบดีกรมคลัง

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันวิสาขบูชา

















วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน

ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสา - ขบุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7
ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ
1. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

2. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

3. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี พระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง 3 เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก

ป ร ะ วั ติ ค ว า ม เ ป็ น ม า ข อ ง วั น วิ ส า ข บู ช า ใ น ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย
วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่
สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม รวม 7 วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม 2,500 รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม รวม 3 วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

แบบทดสอบหลังเรียน

http://quickr.me/sm29Qy9

การปกครองสมัยกรุงสุโขทัย



















ที่ตั้งและอาณาเขต


อาณาจักรสุโขทัย ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าผ่านคาบสมุทรระหว่างอ่าวเมาะตะมะ และที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง มีอาณาเขตดังนี้
1. ทิศเหนือ มี
เมืองแพร่ (ปัจจุบันคือจังหวัดแพร่) เป็นเมืองปลายแดนด้านเหนือสุด
2. ทิศใต้ มี
เมืองพระบาง (ปัจจุบันคือจังหวัดนครสวรรค์) เป็นเมืองปลายแดนด้านใต้
3. ทิศตะวันตก มี
เมืองฉอด (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) เป็นเมืองชายแดนที่จะติดต่อเข้าไปยังอาณาจักรมอญ
4. ทิศตะวันออก ถึง
เมืองสะค้าใกล้แม่น้ำโขงในเขตภาคอีสานตอนเหนือ




ประวัติศาสตร์



ชุมชนก่อนรัฐ

ความเชื่อเรื่องก่อนกำเนิดรัฐสุโขทัย แต่เดิมมีความเชื่อว่ากลุ่มคนจำนวนมากอพยพหนีการรุกรานจากจีนผ่านมาทางเชียงแสน เชียงราย ลุ่มแม่น้ำปิง และตั้งเมืองที่ลุ่มแม่น้ำยมตอนล่าง คติดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมประวัติศาสตร์ชาตินิยม และสร้างภาพของสุโขทัยออกมาในฐานะราชธานีอันยิ่งใหญ่ที่มีเขตแดนจากพงสาลีจรดปลายแหลมมลายู มีแสนยานุภาพเกรียงไกรด้วยกองทัพปลดแอกจากมหาอำนาจขอม มีรูปแบบการปกครองแบบครอบครัวเชิงอุปถัมภ์ที่เรียกกันว่าพ่อปกครองลูก อีกทั้งมีเศรษฐกิจที่รุดหน้ากว่าชาติตะวันตกในรูปแบบการค้าเสรี มีการใช้ภาษาเชิงอารยะคือมีอักษรใช้เป็นของชาติตนเอง แต่ในเวลาต่อมาแนวคิดนนี้เริ่มมีข้อบกพร่อง อีกทั้งเริ่มมีหลักฐานอื่นขึ้นมาขัดแย้งเรื่อยๆ นอกจากนี้แนวความคิดนี้ยังก่อให้เกิดปัญหามโนคติตามมา


ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่า ในบริเวณสุโขทัยน่าจะมีชุมชนอยู่ก่อนแล้ว ทั้งจากกลุ่มชนที่สูงพวกลัวะ หรือกลุ่มพื้นราบจากอารยธรรมทวารวดี นอกจากนี้ยังมีการค้นพบแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ที่บ้านวังหาด อำเภอบ้านด่านลานหอย โดยเฉพาะแร่เหล็ก ซึ่งก่อให้เกิดการตั้งฐิ่นฐานเพื่อทำอุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็ก และการผลิตเครื่องมือเหล็กต่างๆในราวยุคเหล็กตอนปลายต่อเนื่องสมัยทวารวดี โดยพบหลักฐานเป็นโลหะห้อยคอรูปหน้าลิง นอกจากนี้ยังพบร่องรอยชุมชนริมแม่น้ำลำพัน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงวังตะคร้อ ซึ่งมีการพบหลักฐานจำพวกลูกปัด และบริเวณนี้ก็เป็นที่ตั้งของถ้ำเจ้าราม หรือถ้ำพระราม ซึ่งเป็นสถานที่ที่ถูกเอ่ยถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 แต่ชุมชนเหล่านี้ ก็มิได้ขยายตัวเป็นเมืองใหญ่จวบจนกระทั่งสมัยอาณาจักรเท่านั้น


สุโขทัย เป็นชุมทางการค้าที่สำคัญจุดหนึ่งที่ผู้คนจากทั่วสารทิศมาพบปะกันจริงๆ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าในตอนต้นของประวัติศาสตร์ มีการปรากฏตัวของ มะกะโท ซึ่งเป็นพ่อค้า และยังมีการเข้าตีเมืองตาก โดยขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในช่วงเวลาหนึ่งของสุโขทัย ทั้งนี้มีการสันนิษฐานว่า สุโขทัยเป็นสถานีการค้าของแคว้นละโว้ (ลวรัฐ) บนเส้นทางการค้าผ่านคาบสมุทรระหว่างอ่าวเมาะตะมะ กับเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง (ประเทศลาว) คาดว่าเริ่มตั้งเป็นสถานีการค้าในราวพุทธศักราช 1700 ในรัชสมัยของพระยาธรรมิกราช กษัตริย์ละโว้โดยมีพ่อขุนศรีนาวนำถม เป็นผู้ปกครองและดูแลกิจการภายในเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย ต่อมาเมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสวรรคต ขอมสบาดโขลญลำพง สันนิษฐานว่าเป็นผู้ตรวจราชการจากลวรัฐ เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองสุโขทัย แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เหตุสงครามอย่างที่เข้าใจกัน เพราะขอมสบาดโขลญลำพงครองสุโขทัยเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถชี้ชัดระยะเวลาที่แท้จริงได้ก็ตาม


สถาปนาอาณาจักร


เมื่อต่อมาเกิดความขัดแย้งบางประการ ทั้งอาจจะเกิดจากขอมสบาดโขลญลำพงโดยตรงหรือไม่ก็ตาม แต่น่าจะกระทบกระเทือนต่อ ราชวงศ์นำถุม (ผาเมือง) และราชวงศ์พระร่วง จึงส่งผลให้พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง ต้องร่วมมือกันชิงเอาสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 1781 จากนั้น พ่อขุนผาเมืองก็กลับยกเอาเมืองสุโขทัย พระแสงขรรค์ชัยศรี และพระนาม "ศรีอินทรบดินทราทิตย์" ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม ภายหลังได้คลายเป็น ศรีอินทราทิตย์ ให้กับพ่อขุนบางกลางหาว และหายไปจากประวัติศาสตร์จากนั้นเป็นต้นมา ซึ่งมีการสันนิษฐานไปต่างๆนานา ทั้งการไปครองเมืองที่ใหญ่กว่า หรือกลับไปครองเมืองราดตามเดิมอย่างสงบ


แม้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ปกครองสุโขทัยแล้ว กิจการเมืองก็ยังไม่สงบเรียบร้อยดังปรากฏว่ามี ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ยกทัพเข้ามาตีเมืองตาก และท้ายที่สุดเกิดยุทธหัตถี ระหว่างขุนสามชน กับ รามราช พระโอรสองค์เล็กของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผลคือพระโอรสองค์เล็กได้รับชัยชนะ และได้รับการเฉลิมพระนามว่ารามคำแหง หลังพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคต พ่อขุนบานเมือง พระโอรสองค์โต และ พ่อขุนรามคำแหง พระโอรสองค์เล็ก ก็ได้ปกครองสุโขทัยต่อตามลำดับ โดยในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงได้ประกอบพระกรณียกิจไว้มากมาย ทั้งการขยายดินแดน ซึ่งเดิมเชื่อว่าทรงได้พื้นที่จากพงสาลี จรดแหลมมลายู แต่ปัจจุบันหลักฐานหลายชิ้นระบุอาณาเขตไว้ใต้สุดเพียงเมืองพระบาง นอกจากนี้ด้านศาสนายังมีการประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์อีกด้วย

การแทรกแซงจากอยุธยา


หลังจากพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว เมืองต่างๆเริ่มแข็งเมือง ส่งผลให้ในรัชกาลพญาเลอไท และรัชกาลพญาไสลือไท ต้องส่งกองทัพไปปราบหลายครั้งแต่มักไม่เป็นผลสำเร็จ และการปรากฏตัวขึ้นของอาณาจักรอยุธยาทางตอนใต้ซึ่งกระทบกระเทือนเสถียรภาพของสุโขทัยจนในท้ายที่สุดก็ถูกแทรกแทรงจากอยุธยา จนมีฐานะเป็นหัวเมืองของอยุธยาไปในที่สุด โดยมี พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นผู้ปกครองสุโขทัยในฐานะรัฐอิสระพระองค์สุดท้าย โดยขณะนั้น ด้วยการแทรกแซงของอยุธยา รัฐสุโขทัยจึงถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
1. เมืองสรวงสองแคว (พิษณุโลก) อันเป็นเมืองเอก มีพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นผู้ปกครอง
2. เมืองสุโขทัย เมืองรอง มี พระยาราม เป็นผู้ปกครอง
3. เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) มี พระยาเชลียง เป็นผู้ปกครอง
4. เมืองชากังราว (กำแพงเพชร) มี พระยาแสนสอยดาว เป็นผู้ปกครอง
หลังสิ้นรัชกาล
พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมบาล) พระยายุทธิษฐิระซึ่งเดิมทีอยู่ศรีสัชนาลัย ได้เข้ามาครองเมืองสองแคว (พิษณุโลก) และเมื่อแรกที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จขึ้นผ่านพิภพ เป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าขณะนั้น พระยายุทธิษฐิระ เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ได้เพียงตำแหน่งพระยาสองแคว เนื่องด้วย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเคยดำริไว้สมัยทรงพระเยาว์ว่า หากได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จะชุบเลี้ยงพระยายุทธิษฐิระให้ได้เป็นพระร่วงเจ้าสุโขทัย พ.ศ. 2011 พระยายุทธิษฐิระจึงเอาใจออกห่างจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไปขึ้นกับ พระยาติโลกราช กษัตริย์ล้านนาในขณะนั้น เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการเฉลิมพระนามกษัตริย์ล้านนา จากพระยา เป็น พระเจ้า เพื่อให้เสมอศักดิ์ด้วยกรุงศรีอยุธยา พระนามพระยาติโลกราช จึงได้รับการเฉลิมเป็นพระเจ้าติโลกราช



หลังจากที่พระยายุทธิษฐิระ นำสุโขทัยออกจากอยุธยาไปขึ้นกับล้านนา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงเสด็จจากกรุงศรีอยุธยา กลับมาพำนัก ณ เมืองสรลวงสองแคว พร้อมทั้งสร้างกำแพงและค่ายคู ประตู หอรบ แล้วจึงสถาปนาขึ้นเป็นเมือง พระพิษณุโลกสองแคว เป็นราชธานีฝ่ายเหนือของอาณาจักรแทนสุโขทัย ในเวลาเจ็ดปีให้หลัง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงตีเอาสุโขทัยคืนได้ แต่เหตุการณ์ทางเมืองเหนือยังไม่เข้าสู่ภาวะที่น่าไว้วางใจ จึงทรงตัดสินพระทัยพำนักยังนครพระพิษณุโลกสองแควต่อจนสิ้นรัชกาล ส่วนทางอยุธยานั้น ทรงได้สถาปนาสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระราชโอรส เป็นพระมหาอุปราช ดูแลอยุธยาและหัวเมืองฝ่ายใต้





ด้วยความที่เป็นคนละประเทศมาก่อน และมีสงครามอยู่ด้วยกัน ชาวบ้านระหว่างสุโขทัยและอยุธยา จึงมิได้ปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จึงต้องแยกปกครอง โดยพระมหากษัตริย์อยุธยา จะทรงสถาปนาพระราชโอรส หรือพระอนุชา หรือพระญาติ อันมีเชื้อสายสุโขทัย ปกครองพิษณุโลกในฐานะราชธานีฝ่ายเหนือ และควบคุมหัวเมืองเหนือทั้งหมด





การสิ้นสุดของรัฐ





พ.ศ. 2127 หลังจากชนะศึกที่แม่น้ำสะโตงแล้ว พระนเรศวรโปรดให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวง (ตาก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิชัย ชัยบุรี ศรีเทพ) ลงมาไว้ที่อยุธยา เพื่อเตรียมรับศึกใหญ่ พิษณุโลกและหัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงกลายเป็นเมืองร้าง หลังจากเทครัวไปเมืองใต้ จึงสิ้นสุดการแบ่งแยกระหว่างชาวเมืองเหนือ กับชาวเมืองใต้ และถือเป็นการสิ้นสุดของรัฐสุโขทัยโดยสมบูรณ์ เพราะหลังจากนี้ 8 ปี พิษณุโลกได้ถูกฟื้นฟูอีกครั้ง แต่ถือเป็นเมืองเอกในราชอาณาจักร มิใช่ราชธานีฝ่ายเหนือ





ในด้านวิชาการ มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอเพิ่มว่า เหตุการณ์อีกประการ อันทำให้ต้องเทครัวเมืองเหนือทั้งปวงโดยเฉพาะพิษณุโลกนั้น อยู่ที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ บนรอยเลื่อนวังเจ้า ในราวพุทธศักราช 2127 แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้ตัวเมืองพิษณุโลกราพณาสูญ แม้แต่แม่น้ำแควน้อย ก็เปลี่ยนเส้นทางไม่ผ่านเมืองพิษณุโลก แต่ไปบรรจบกับแม่น้ำโพ (ปัจจุบันคือแม่น้ำน่าน) ที่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป และยังส่งผลให้พระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก หักพังทลายในลักษณะที่บูรณะคืนได้ยาก ในการฟื้นฟูจึงกลายเป็นการสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาครอบทับลงไปแทน ทั้งหมด





ความเจริญรุ่งเรือง





ด้านเศรษฐกิจ





สภาพเศรษฐกิจสมัยสุโขทัยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ดังข้อความปรากฏในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 "…ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ค้าถ้วยชามสังคโลก" และ "...เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว..." ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยระบบการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ เช่นสังคมไทยส่วนใหญ่ในชนบทปัจจุบัน
ด้านสังคม ความเชื่อ และศาสนา





การใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยสุโขทัยมีความอิสรเสรี มีเสรีภาพอย่างมากเนื่องจากผู้ปกครองรัฐให้อิสระแก่ไพร่ฟ้า และปกครองผู้ใต้ปกครองแบบพ่อกับลูก ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกว่า "…ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน…"
ด้านความเชื่อและศาสนา สังคมยุคสุโขทัยประชาชนมีความเชื่อทั้งเรื่องวิญญาณนิยม (Animism) ไสยศาสตร์ ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และพุทธศาสนา ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 ว่า "…เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกุฎิวิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดพงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง ป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขระพุงผี เทพยาดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยว เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันนั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย…"





ส่วนด้านศาสนา ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราช ในวันพระ จะมีภิกษุเทศนาสั่งสอน ณ ลานธรรมในสวนตาล โดยใช้พระแท่นมนังคศิลาอาสน์ เป็นอาสนะสงฆ์ ในการบรรยายธรรมให้ประชาชนฟัง ยังผลให้ประชาชนในยุคนี้นิยมปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีการถือศีล โอยทานกันเป็นปกติวิสัย ทำให้สังคมโดยรวมมีความสงบสุขร่มเย็น





ด้านการปกครอง





แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
1.แบบพ่อปกครองลูก
( ปิตุลาธิปไตย )
สุโขทัยมีลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ผู้ปกครองคือ พ่อขุน ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อที่จะต้องดูแลคุ้มครองลูก ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงโปรดให้สร้างกระดิ่งแขวนไว้ที่หน้าประตูพระราชวัง เมื่อประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนก็ให้ไปสั่นกระดิ่งร้องเรียน พระองค์ก็จะเสด็จมารับเรื่องราวร้องทุกข์ และโปรดให้สร้างพระแทนมนังคศิลาอาสน์ได้กลางดงตาล ในวันพระจะนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์สั่งสอนประชาชน หากเป็นวันธรรมดาพระองค์จะเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าและตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง การปกครองแบบพ่อปกครองลูก(
ปิตุลาธิปไตย)ใช้ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนต้น
2.แบบ
ธรรมราชา
การปกครองแบบธรรมราชา หมายถึง พระราชาผู้ปฏิบัติธรรมหรือ กษัตริย์ผู้มีธรรม ในสมัยของ
พระมหาธรรมราชาที่ ๑ มีกำลังทหารที่ไม่เข้มแข็ง ประกอบกับอาณาจักรอยุธยาที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ได้แผ่อิทธิพลมากขึ้น พระองค์ทรง เกรงภัยอันตรายจะบังเกิดแก่อาณาจักรสุโขทัย หากใช้กำลังทหารเพียงอย่าง เดียว พระองค์จึงทรงนำหลักธรรมมาใช้ในการปกครอง โดยพระองค์ทรงเป็น แบบอย่างในด้านการปฏิบัติธรรม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นพระ มหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ที่ปรากฏแนวคิดแบบธรรมราชาไว้ด้วย การปกครองแบบธรรมราชา ใช้ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย ตั้งแต่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ - ๔





ด้านการปกครองส่วนย่อยสามารถแยกกล่าวเป็น 2 แนว ดังนี้





ในแนวราบ
จัดการปกครองแบบพ่อปกครองลูก กล่าวคือผู้ปกครองจะมีความใกล้ชิดกับประชาชน ให้ความเป็นกันเองและ
ความยุติธรรมกับประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อประชาชนเกิดความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนกับพ่อขุนโดยตรงได้ โดยไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตูที่ประทับ ดังข้อความในศิลาจารึกปรากฏว่า "…ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งไว้ให้ ไพร่ฟ้าหน้าใส…" นั่นคือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมาสั่นกระดิ่งเพื่อแจ้งข้อร้องเรียนได้





ในแนวดิ่ง
ได้มีการจัดระบบการปกครองขึ้นเป็น 4 ชนชั้น คือ
พ่อขุน เป็นชนชั้นผู้ปกครอง อาจเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น
เจ้าเมือง พระมหาธรรมราชา หากมีโอรสก็จะเรียก "ลูกเจ้า"
ลูกขุน เป็นข้าราชบริพาร ข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ช่วงปกครองเมืองหลวง หัวเมืองใหญ่น้อย และภายในราชสำนัก เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดและได้รับการไว้วางใจจากเจ้าเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ไพร่ฟ้า
ไพร่หรือสามัญชน ได้แก่ราษฎรทั่วไปที่อยู่ในราชอาณาจักร (ไพร่ฟ้า)
ทาส ได้แก่ชนชั้นที่ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิตอย่างสามัญชนหรือไพร่ (อย่างไรก็ตามประเด็นทาสนี้ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่)
ความสัมพันธ์กับต่างชาติ
จักรวรรดิมองโกล
กองทัพ
จักรวรรดิมองโกลแผ่แสนยานุภาพโดดเด่นที่สุดเป็นช่วงเดียวกับการตั้งกรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1800 (ค.ศ. 1257) ซึ่งเป็นอาณาจักรของตนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก





หลักฐานสำคัญในพงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 2 แปลเรื่องราวการติดต่อระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับราชวงศ์มองโกลได้สรุปไว้ว่ากุบไลข่านทรงปรึกษาขุนนางข้าราชการระดับสูงเกี่ยวกับการเตรียมทัพไปปราบปรามแคว้นต่างๆ ทางใต้ มีสุโขทัย ละโว้ สุมาตรา และอื่นๆ เป็นเมืองขึ้น ปรากฏว่าขุนนางชื่อ เจี่ย หลู่ น่าต๋าไม่เห็นด้วยและได้กราบบังคมทูลเสนอแนะให้ทรงชักชวนให้ผู้นำดินแดนต่างๆ อ่อนน้อมยอมสนับสนุนก่อน หากไม่ยอมจึงยกกองทัพไปโจมตี นี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่กุบไลข่านทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี และขอให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักมองโกล เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออาณาจักรมองโกล ปรากฏว่ามีอาณาจักรในดินแดนต่างๆ กว่า 20 อาณาจักรยอมรับข้อเสนอ รวมทั้งอาณาจักรสุโขทัยด้วย (ช่วงระหว่างประมาณ พ.ศ. 1822 - 1825)
พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 12 เป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงคณะทูตชุดแรกจากอาณาจักรมองโกลในสมัยกุบไลข่าน เดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 1825 (ค.ศ. 1282) ทูตคณะนี้นำโดยเหอจี จี่ นายทหารระดับสูงเป็นหัวหน้าคณะ แต่ขณะนังเรือแล่นผ่านฝั่งทะเลอาณาจักรจามปา ได้ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต ผลจากคณะทูตนี้ถูกประหารชีวิตก่อนจะเดินทางไปยังอาณาจักรสุโขทัยทำให้อาณาจักรสุโขทัยไม่ทราบว่ามองโกลพยายามส่งทูตมาติดต่อ





พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 17 กล่าวถึงคณะทูตมองโกลชุดที่สองเดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในปี พ.ศ. 1835 (ค.ศ. 1292) ภายหลังจากข้าหลวงใหญ่ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยของมณฑลกวางตุ้ง ได้ส่งคนอัญเชิญพระราชสาส์นอักษรทองคำของกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยไปยังนครหลวงข่านมาลิก (ต้าตู หรือปักกิ่งปัจจุบัน) คณะทูตมองโกลชุดที่สองได้อัญเชิญพระบรมราชโองการของกุบไลข่านให้พ่อขุนรามคำแหงเสร็จไปเฝ้า พระบรมราชโองการนี้แสดงให้เห็นนโยบายของอาณาจักรมองโกลเรียกร้องให้ผู้นำของอาณาจักรต่างๆ ไปเฝ้ากุบไลข่าน แต่มิได้บังคับให้เป็นไปตามนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตามแต่ประการใด





พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 18 กุบไลข่านได้ส่งคณะทูตชุดที่สามมาสุโขทัย โดยได้อัญเชิญพระบรมราชโองการให้พ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเฝ้า หากมีเหตุขัดข้องให้ส่งโอรสหรือพระอนุชาและอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน ซึ่งปรากฏว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตาม แต่ส่งคณะทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปแทน
อาณาจักรล้านนา





ในปี พ.ศ. 1839 พญามังราย (พ.ศ. 1804 - 1854) ได้มีคำสั่งให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า นภบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ (เชียงใหม่) เพื่อที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรล้านนา ครั้งนั้นพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและ พญางำเมือง ได้เสด็จมาช่วยด้วย
อาณาจักรอยุธยา





หลังจากมีการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา แรกนั้นสุโขทัยและอยุธยาไม่ได้เป็นไมตรีต่อกัน แต่ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมกว่า ทำให้อยุธยาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในของสุโขทัยมิได้เป็นไปโดยสงบ มีการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่าง พระยาบาลเมือง พระยาราม ยังผลให้อยุธยาสบโอกาสเข้าแทรกแซงกิจการภายใน ในรัชกาลนี้มีการรับไมตรีจากอยุธยาโดยการสมรสระหว่างราชวงศ์พระร่วง กับราชวงศ์สุพรรณภูมิ โดยมีพระราเมศวร ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นราชบุตรจากสองราชวงศ์





ลังกา





สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับลังกาทางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์โดยรับมาจากนครศรีธรรมราชอีกที นอกจากนี้ สุโขทัยก็ยังมีความสัมพันธ์กับลังกาโดยตรง ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ได้มีพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงได้เดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ลังกาอีกด้วย





หัวเมืองมอญ





สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับจีนในลักษณะการค้าในระบบบรรณาการ คือ สุโขทัยจะต้องส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีน เพื่อแสดงความอ่อนน้อมต่อจีน และเมื่อเดินทางกลับ จีนก็ได้จัดมอบสิ่งของให้คณะทูตนำกลับมายังสุโขทัยด้วย และทำให้ได้รับวีธีการทำเครื่องปั้นดินเผาจากช่างจีนด้วย